top of page

สมรสเท่าเทียม ก้าวสำคัญของสิทธิและความเสมอภาคทางกฎหมายของไทย

รูปภาพนักเขียน: Epsilon Legal AdminEpsilon Legal Admin

ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเสมอภาคทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับใหม่ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 โดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในกฎหมายจากเดิมที่ระบุว่า “ชายและหญิง” มาเป็นคำว่า “บุคคล” สองคน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศสามารถสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย


สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ก่อนหน้านี้ กฎหมายไทยกำหนดว่าการสมรสจะต้องเป็นการสมรสระหว่าง "ชายและหญิง" เท่านั้น แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้คำว่า “บุคคล” แทน “ชาย” และ “หญิง” และแทนคำว่า “สามี” และ “ภริยา” ด้วยคำว่า “คู่สมรส” เพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายของเพศ

การปรับปรุงนี้ทำให้คู่สมรสทุกเพศได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง เช่น


สิทธิในการตัดสินใจทางการแพทย์ - คู่สมรสสามารถตัดสินใจแทนกันในกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์


สิทธิในทรัพย์สินร่วม - คู่สมรสมีสิทธิในทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส


สิทธิในความเป็นพ่อแม่ - กฎหมายอนุญาตให้คู่สมรสทุกเพศสามารถรับบุตรบุญธรรมและดูแลบุตรร่วมกันได้


คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

ผู้ที่ต้องการจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หรือในกรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

  • ต้องไม่มีสถานะการสมรสกับบุคคลอื่นในขณะนั้น 

  • ห้ามสมรสกับบุคคลที่เป็นญาติใกล้ชิด เช่น พี่น้องร่วมสายเลือด หรือบุตรบุญธรรม

  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ

  • ระยะเวลารอคอย (สำหรับหญิง) หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

    • คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

    • ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

    • สมรสกับคู่สมรสเดิม

    • บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้

    • มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์


ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังคงดำเนินการในลักษณะเดิม โดยมีขั้นตอนดังนี้


การเตรียมเอกสาร 

  1. บุคคลสัญชาติไทยทั้งสองฝ่าย 

- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือหลักฐานยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชัน ThaID

  1. บุคคลสัญชาติไทยและชาวต่างชาติ

- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของคนไทย หรือหลักฐานยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

- หนังสือเดินทาง (Passport) ของชาวต่างชาติ

- หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (Certificate of No Impediment to Marriage) ที่ออกโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ชาวต่างชาติถือสัญชาติ ซึ่งรับรองว่าบุคคลนั้นมีสถานะโสดและสามารถสมรสได้ หนังสือรับรองนี้ต้องได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและรับรองโดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

  1. บุคคลต่างชาติทั้งสองฝ่าย

- หนังสือเดินทาง (Passport) ของทั้งสองฝ่าย

- หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องได้รับการแปลและรับรองเช่นเดียวกัน

  1. กรณีเคยสมรสมาก่อน

- ใบสำคัญการหย่า หรือคำสั่งศาลที่แสดงว่าการสมรสสิ้นสุดลงแล้ว

- กรณีหญิงที่เคยสมรส หากยังไม่พ้นระยะเวลา 310 วันหลังการสมรสสิ้นสุดลง ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือคำสั่งศาลอนุญาตให้สมรสได้

  1. พยาน

- พยานบุคคล 2 คน ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง


การยื่นคำร้อง - สถานที่

ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส (คร.1) ณ สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ ในท้องที่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ และสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือสถานที่ที่นายทะเบียนกำหนด เช่น ในบางครั้งอาจมีการจัดกิจกรรมพิเศษที่เปิดให้จดทะเบียนสมรสในสถานที่อื่นๆ


การตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสาร

เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของคู่สมรส หากถูกต้องครบถ้วน จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป


การจดทะเบียน

1. คู่สมรสและพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส

2. เจ้าหน้าที่จะออกทะเบียนสมรสให้เป็นหลักฐาน


ค่าธรรมเนียม

1. การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2. การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงาน ในบางกรณี อาจสามารถขอจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงานได้ โดยต้องมีเหตุผลอันสมควรและเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท หรือตามที่กำหนด


เพิ่มเติม

  • การสมรสกับชาวต่างชาติ มีรายละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่า ควรศึกษาข้อมูลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรง

  • หากต้องการทำสัญญาก่อนสมรส ควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยคู่สมรสและพยาน ก่อนการจดทะเบียนสมรส

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page