top of page

ปัญหามรดกหมื่นล้าน - เรื่องไม่เล็ก ที่ป้องกันได้

รูปภาพนักเขียน: Epsilon Legal AdminEpsilon Legal Admin

อัปเดตเมื่อ 15 ต.ค. 2567

จากกรณีประเด็นเรื่อง “มรดกหมื่นล้าน” ของตระกูลดังจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีทายาททั้งหมด 4 คน แต่พินัยกรรมของเจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาระบุยกมรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทคนโตเพียงผู้เดียว  ซึ่งทายาทอีก 3 คน ได้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมในการแบ่งมรดก โดยมีข้อสงสัยหลายประการ อาทิ การทำพินัยกรรมที่ไม่ชอบมาพากลคาดว่าบิดาของตนเองสติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วนในขณะทำพินัยกรรมหรืออาจจะมีคนบงการอยู่ การถ่ายโอนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินและทรัพย์สมบัติหลายอย่าง รวมทั้งการตัดทายาททั้ง 3 คนออกจากกองมรดก โดยคู่สมรสของเจ้ามรดกหรือมารดาของทายาททั้ง 4 คน ได้ออกมาชี้แจงว่า เรื่องพินัยกรรม ยืนยันว่าไม่ใช่พินัยกรรมปลอม เป็นของจริง และขอเปิดเผยต้นฉบับในชั้นศาลเท่านั้น เหตุผลที่สามียกมรดกให้ลูกชายคนโตคนเดียว เป็นเพราะลูกชายคนโตมาเยี่ยมเช้า-เย็น จึงจำชื่อได้ ในส่วนอาการป่วยของสามี เป็นอาการหลงลืมตามวัน และไม่ใช่อาการสมองเสื่อมหรืออาการป่วยจากโรคอัลไซเมอร์ จึงยืนยันว่าสามีสติสัมปชัญญะครบ

จากกรณีข้อเท็จจริงดังกล่าว สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี

  1. กรณีผู้ตายได้ทำพินัยกรรมขึ้นจริงโดยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ตาม ปพพ. มาตรา ๑๖๐๘  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

  2. โดยพินัยกรรม



เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาจะสามารถตัดทายาทคนใดและระบุให้ทายาทคนใดรับมรดกก็ได้ตามที่เจ้ามรดกต้องการ ซึ่งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวแต่พินัยกรรมที่ทำขึ้นจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าพินัยกรรมดังกล่าวทำถูกต้องตามเรื่องแบบพินัยกรรมที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ หรือไม่ หากกรณีดังกล่าวพินัยกรรมทำขึ้นถูกต้องตามแบบและมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ทรัพย์มรดกทั้งหมดตกแก่ทายาทคนโตเพียงผู้เดียว ทายาทคนอื่นๆไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆทั้งสิ้น


กรณีพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ถูกไม่ต้องตามกฎหมาย/ทำขึ้นโดยถูกข่มขู่ กลฉ้อฉล/ทำขึ้นในขณะมีสติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วน ตามมาตรา ๑๗๐๔  พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะหรือ พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่ และมาตรา ๑๗๐๕  พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๕๒, ๑๖๕๓, ๑๖๕๖, ๑๖๕๗, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑ หรือ ๑๖๖๓ ย่อมเป็นโมฆะ จากกรณีดังกล่าวทายาททั้ง 3 คน ได้โต้แย้งว่าพินัยกรรมนั้นปลอมและคาดว่ามีคนบงการอยู่ ทายาททั้ง 3 คน ต้องหาหลักฐานเพื่อมาพิสูจน์ให้ได้จึงจะสามารถเรียกร้องการแบ่งมรดกนั้นให้เป็นไปโดยความยุติธรรมได้ โดยร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่หรือร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้น พินัยกรรมนั้นก็จะมิได้ทำขึ้นก็ได้ หากสามารถพิสูจน์ได้พินัยกรรมดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกจะต้องแบ่งตามลำดับทายาทโดยธรรม โดยจะต้องแบ่งในส่วนของสินสมรสก่อนจึงแบ่งสินส่วนตัว คู่สมรสหรือมารดาของทายาททั้ง 4 คน จะได้สินสมรส 50% อีก 50%แบ่งให้คู่สมรสและทายาททั้ง 4 คนละ 10%  เท่าๆกัน หากกรณีสามารถพิสูจน์ได้ว่า มารดาหรือทายาทคนโด ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก หรือ เป็นผู้ไม่สมควรรับมรดกตามกฎหมายกำหนด เช่น เป็นผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น หรือ ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด มารดาหรือทายาทคนโตอาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกได้ 

ดังนั้น ทายาททั้ง 3 คน จะต้องนำหลักฐานเพื่อมาพิสูจน์ให้ได้ว่า พินัยกรรมนั้นปลอมหรือมีคนบงการอยู่ จึงจะสามารถทำให้พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะและเรียกร้องการแบ่งมรดกให้เป็นไปโดยความยุติธรรมได้ แต่หากพินัยกรรมฉบับดังกล่าวนั้นทำขึ้นถูกต้องตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทายาททั้ง 3 คน ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆในทรัพย์มรดกดังกล่าวทั้งสิ้น


ดู 19 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page