สิทธิบัตรเป็นการให้ความคุ้มครองในเรื่องของการประดิษฐ์ ส่วนอนุสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรย่อย เป็นลักษณะของงานนวัตกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนจากของเดิม และสุดท้ายคือสิทธิบัตรการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับ เช่น ระบบทำงานของเครื่องยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้า ชุดเสื้อผ้าที่มีลักษณะโดดเด่นและใหม่ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น โดยลักษณะของการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายนั้นจะเป็นแบบให้สิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียว และผู้ทรงสิทธิบัตรจะสามารถนำไปต่อยอดทำการตลาด ทำกำไรต่างๆ ได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายให้ไว้ คือ 10 ปี 20 ปี แล้วแต่ลักษณะของงานประดิษฐ์ ซึ่งจะสามารถให้ผู้อื่นใช้งานได้บางส่วนหรือทั้งหมดโดยแลกกับค่าตอบแทนในสิทธิบัตรนั้น ๆ
โดยที่การได้มาของสิทธิตามกฎหมายข้างต้นนั้น งานประดิษฐ์จะต้องมีความใหม่ คือ ไม่เคยมีมาก่อนเลย (รวมถึงมีการเปิดเผยโดยตัวผู้ประดิษฐ์เองด้วย) มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น คือ ต้องมีการใช้กระบวนความคิดใหม่ เทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ด้วย (ข้อนี้ ขึ้นอยู่แต่ละงานประดิษฐ์นะครับ) และสุดท้ายคือสามารถนำมาใช้งานได้จริง
แต่หลังจากที่เราได้รับสิทธิบัตรมาไว้ในมือแล้ว ก็อย่าได้ชะล่าใจไป เนื่องจากว่าความคุ้มครองในสิทธิบัตรเป็นการตัดโอกาสทางการค้าของคู่แข่ง ดังนั้น คู่แข่งอาจจะมีการสืบเสาะ หาข้อมูลในงานประดิษฐ์ของเรา ว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้างที่อาจจะสามารถทำให้ถูกถอดถอนสิทธิบัตรได้ เช่น ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีการโฆษณาถึงสิ่งประดิษฐ์นั้น ไปก่อนที่จะมีการยื่นขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา อาจจะด้วยใจร้อนอยากทำการตลาด แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำนั้นเป็นการเปิดเผยในสิ่งประดิษฐ์และอาจส่งผลทำให้การประดิษฐ์นั้นขาดความใหม่ไป
ดังนั้น ก่อนที่เราจะยื่นขอรับสิทธิบัตร เราควรต้องสำรวจ วิเคราะห์ก่อนว่างานประดิษฐ์ของเรามีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่างหรือไม่ และต้องระวังอย่าให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลย เพราะนอกจากเป็นการทำให้เราเสียเวลา เสียโอกาส เพราะการได้มาของสิทธิบัตรแต่ละงานนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ประมาณ 2 ปี จนถึงเกือบจะหมดอายุความคุ้มครองเลยทีเดียว และอาจจะมีผลเสียทางธุรกิจในอีกหลาย ๆ ด้าน เราจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนมิเช่นนั้นแล้วการได้มาซึ่งสิทธิบัตรก็อาจจะได้มาเพียงแค่กระดาษ 1 แผ่นเท่านั้น
Comentários